ภายในพุทธคยา ประกอบไปด้วย สัตตมหาสถาน ทั้ง ๗ แห่งคือ…
๑.ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
หลังจากพระมหาบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขาววางทับพระบาทซ้าย และพระหัตถ์ขวา ทับพระหัตถ์ซ้าย ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ผินพระปฤษฎางค์ ไปทางต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วทรงตั้งพระทัยเป็นสัจจะแน่วแน่ว่า
“ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด เราจักไม่ยอมลุกขึ้นตราบนั้น แม้ว่าเนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที่”
พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณ
- ที่หนึ่งในตอนปฐมยาม ญาณที่หนึ่งเรียกว่า บุพเพนิวาสนุสติญาณ (หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังของตนและของคนอื่น)
- พอถึงมัชณิณยาม ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า จุตูปปาตญาณ (หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความจุติ คือ ดับและเกิดของสัตว์โลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่ เรียกว่า กรรม)
- พอถึงปัจฉิมยาม ทรงบรรลุญาณที่สาม คือ อาสวักขยญาณ (หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์
การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้น ทรงมีพระนามใหม่ว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (แปลว่า พระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง)
พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุข อยู่ภายในต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน (คำว่า “เสวยวิมุติสุข” เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพันแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลศก็คือพักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง)
สัปดาห์ที่ ๒. อนิมิสเจดีย์
อนิมิสเจดีย์ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ประทับนั่ง เสวยวิมุติสุข ณ บัลลังก์ที่ประทับนั่งตรัสรู้ ตลอด ๗ วัน เทวดาบางพวกเกิดความปริวิตก ว่า แม้วันนี้ พระสิทธัตถะ ยังมีกิจที่จะต้องทำอยู่เป็นแน่ เพราะยังไม่ละความอาลัย ในบัลลังก์ ด้วยพระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้ก่อน ประทับนั่งว่า “ถ้าไม่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่เสร็จลุกขั้นจากบัลลังก์นี้
ในวันที่ ๘ ทรงออก จากสมาบัติ ทรงทราบความปริวิตกของเทวดาเหล่านั้น แล้วเหาะขึ้นไปในอากาศ ครั้งแสดงยมกปาฎิหาริย์กำจัดความสงสัย ของเทวดาเหล่านั้นแล้ว จึงประทับยืนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เยื้องจากบัลลังก์ไปเล็กน้อย ทรงจ้องดูบัลลังก์ และต้นโพธิ์ สถานที่บรรลุผลแห่งพระบารมีทั้งหลาย ที่ทรงบำเพ็บ มาถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบว่า เราบรรลุสัพพัญญุตญาณเหนือบัลลังก์นี้ ทรงยับยั้งอยู่ ๗ วัน สถานที่นั้น จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๓ รัตนจงกรมเจดีย์
รัตนจงกรมเจดีย์ พระองค์ทรงเนรมิตที่จงกรมระหว่างบัลลังก์ที่ประทับนั้งตรัสรู้ กับอนิมิสเจดีย์ ทรงจงกรมบนรัตนจงกรม จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกอยู่ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “รัตนจงกรมเจดีย์”
ปัจจุบัน มีหินแกะสลักทำเป็นดอกบัว วางเรียงกัน เป็นแนวยาวตลอด อยู่ทางด้านซ้ายมือข้างองค์พระมหาเจดีย์ พุทธคยา หรืออยู่ทางทิศเหนือ สร้างเป็นแท่นหินสูง ๑ เมตร มี ๑๙ ดอก
สัปดาห์ที่ ๔ รัตฆรเจดีย์
รัตฆรเจดีย์ เทวดาทั้งหลายเนรมิตเรือนแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วนั้น ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฎก และพระสมัมตปัฎฐาน อนันตนัย ในพระอภิธรรมปิฎกโดยพิเศษ ทรงยับยั้งอยู่ตลอดสัปดาห์
ส่วนนักอภิธรรม กล่าวว่า ที่ชื่อว่า เรือนแก้ว ไม่ใช่เรือนแก้วที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ แต่สถานที่ทรงพิจาณาปกรณ์ทั้ง ๗ เรืยกว่า เรื่อนแก้ว ท่านประยุกต์เรื่องทั้งสองเข้าไว้ในที่นี้ โดยปริยาย จึงควรถือเอาทั้งสองนัย สถานที่นั้นจึงชื่อว่า “รัตฆรเจดีย์”
ลักษณะที่ปรากฎในปัจจุบัน เจดีย์นี้สร้างเป็นทรงสีเหลี่ยมผืนผ้า หลังคาตัดตรง ทาสีเหลือง ด้านหน้ามีประตูทางเข้า หันหน้าไปทางกำแพงด้านทิศเหนือ ภายในมีพระพุทธรูป ทองเหลือขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ประดับอย่างสวยงามประดิษฐานอยู่ (ทั้ง ๔ แห่งนี้อยู่บริเวณใกล้ๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์)
สัปดาห์ที่ ๕ อชปาลนิโครธ
อชปาลนิโครธ พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ใกล้ๆ ต้นโพธิ์ ๔ สัปดาห์แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๕ เสร็จออก จากบริเวณควงไม้โพธิ์เสร็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปทางทิศตะวันออก ประทับนั่งพิจารณาพระธรรม และเสวยวิมุติสุขที่ต้นอชปาลนิโครธนั้น
สถานที่แห่งนี้อยู่ด้านทิศตะวันออกของบ้านนางสุชาดา ปัจจุบันเรียกว่า วัดนางสุชาดา (Sujata Templ)
สัปดาห์ที่ ๖ สระมุจลิทน์
สระมุจลิทน์ อยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นสระจำลองมีพระพุทธรูปปรางค์นาคปรกอยู่กลางสระ (ไทยเราแปลต้นมุจลินท์ กันว่าต้นจิก)
เมื่อพระพุทธเจ้าเสร็จมาประทับอยู่ที่นี่ มหาเฆมซึ่งมิใช่ฤดูกาลก็ตั้งขึ้นทั่วท้องจักรวาล ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ท่านผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อมุจลินท์ ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกายของพระพุทธเจ้า ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลายขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพยืนประคองอัญชลีถวายบังคมพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์
สระมุจลินท์อยู่ทางทิศใต้ ห่างจากต้นศรีมหาโพธิ์ ประมาณ ๒ กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำเนรัญชราประมาณ ๕๐๐ เมตร ปัจจุบันบริเวณสระมุจลินท์มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ ชาวบ้านนำสัตว์เลี้ยงมาผูกเอาไว้รอบๆ สระน้ำ
สัปดาห์ที่ ๗ ราชยตนะ
สัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุติสุข อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชราประมาณ ๑ กิโลเมตรและห่างจากสถานที่ตรัสรู้ประมาณ ๓ กิโลเมตร ปัจจุบันมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งและเทวสถานของศาสนาฮินดูไว้ใกล้ๆ พระพุทธเจ้าเสร็จไปประทับอยู่ใต้ต้นไม้ที่ภาษาบาลีเรียกว่า ราชายตนะ อยู่ถัดไปทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ราชายตนะ แปลกันว่า ไม้เกต