ประวัตินางวิสาขา เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา ถวายวัดบุพพาราม ถวายผ้าอาบน้ำฝน

ประวัตินางวิสาขา

นางวิสาขา  เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อ ธนญชัย มารดาชื่อว่า สุมนาเทวี และปู่ชื่อ เมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอายุ อยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก

เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวนมากกำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้ เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอิริยบถอยู่นั้น เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด ส่วนเมณฑกเศรษฐีเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน ที่ประทับอยู่ภัททิยนครนั้น

ตระกูลธนญชัยเศรษฐี ย้ายไปอยู่เมืองสาวัตถี

สมัยพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤท์ มีความเกี่ยวข้องกันโดยต่างก็ได้ภคินี (น้องสาว) ของกันและกันมาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากในเมืองสาวัตถี ของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากมาย และได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติจำนวนนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ ตระกูล ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้งความประสงค์ เพื่อขอพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ ไปอยู่เมืองสาวัตถีสักหนึ่งตระกูลพระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้วตรัสตอบว่า “การโยกย้ายตระกูลใหญ่ๆ เพียงตระกูลก็เหมือนกับแผ่นดินทรุด” แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้หลักจากที่ได้ปรึกษาอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถีกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งบริวารและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายเดินทางสู่พระนครสาวัตถีพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศล และ

ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทางก่อนเข้าเมืองธณญชัยเศรษฐีเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณที่พักนั้นเป็นชัยภูมิเหมาะสมดีอีกทั้งตนเองก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมืองก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อตั้งบ้างเมืองลง ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่ “สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์

หญิงงามเบญจกัลยาณี

ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งเมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกแก่บิดามารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี แล้วจึงจะยอมแต่งงานเบญจกัลลยาณีความงามของสตรี ๕ อย่างคือ

๑.เกสกลฺยาณํ ผมงามคือหญิงผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขึ้น

๒.มงฺสกลฺยาณํ เนื้องามคือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี

๓.อฎฺฐิกลฺยาณํ กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน

๔.ฉวิกลฺยาณํ ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดังดอกกรรณิกา

๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม คือ หญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่ายกายสาวสวยดุจคลอดครั้งเดียว

บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้วจึงให้เชิญพรามหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอิตถึลักษณะมาถามว่า หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้มีหรือไม่ เมื่อพวกพรามหณ์ตอบว่า มี จึงส่งพรามหณ์เหล่านั้นออกเที่ยวแสวงหาตามเมืองต่างๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัยและเครื่องทองหมั้นไปด้วย

ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม

พวกพราหมณ์เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่างๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ จนมาถึงเมืองสาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถี ลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนหญิงอื่นๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งามได้แก่

๑.พระราชาผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ

๒.บรรพชิตผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์

๓.สตรีผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลายนอกจากจะไม่ดูงานแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเสียโฉมหรือพิการจะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณค่า

๔.ช้างมงคลตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง

พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาณฉลาด และคุณสมบัติ เบญจกัลยาณี ครบทุกอย่างประการแล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาชาเป็นการหมายหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคล ธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ ชื่อ “มหาลดาปสาธน์” เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฎิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่นๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่างๆ รวมทั้งข้าทาสบริวาร และฝูงโคอีก จำนวนมากมายมหาศาลอีกทั้งส่งกฎุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่างๆ ไป เป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว

ก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐี ได้อบรมมารยาทสมบัติของ กุลสตรีผู้จะไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการเป็นแนวปฎิบัติ คือ

โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง

โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง

โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้วแล้วนำมาส่งคืน

โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่ คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วไม่นำส่งคืน

โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืนก็ควรให้

โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัว แม่ผัวและสามี

โอวาทข้อที่ ๗ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวและสามี

โอวาทข้อที่ ๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้วตนจึงบริโภคภายหลัง

โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอ ว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมืองกองไฟและพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล

โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม

ธนณชัยเศรษฐี ให้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามี เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือนเช่นกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมายมายมหาศาลที่บิดาจัดการมอบให้แม้กระนั้น โคกระบือที่อยู่ในคอกยังทำลายคอกวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก

ทั้งนี้ด้วยอานิสงฆ์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือในครั้งที่นางวิสาขาเดิมเป็นธิดาของพระกิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำ และทั้งๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “พอแล้วๆ” ก็ยังตรัสว่า “พระคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวามเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอนิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้ บันดาลให้โคเหล่านั้นแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังโดดออกจากคอกวิ่งตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก

เมื่อนางวิสาขา เข้ามาสู่ตระกูลของสามีแล้วเพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเครพผู้ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีพ่อของสามีซึ่งมีจิตฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย โดยให้ความเครพนับถือว่า เป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มาบริโภคโภชนาหารที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้พระอรหันต์และให้มาช่วยจัดเลี้ยงอาหารแก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย

นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบัน พอได้ยินค่ำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดีมายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า “ผู้ไม่มีความละอาย เหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐีแล้วกลับที่อยู่ของตนต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอยปรนนิบัติอยู่ใกล้ๆ

ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาทราบดีว่าเศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้วก็ทำเป็นไม่เห็นนางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างหน้าก่อนเถิด ท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่”

เศรษฐีได้ฟังดังนั้นแล้วจึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันทีแล้วสั่งให้บริวารมาจับและขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับนางวิสาขาขอชี้แจงแก่กฎุมพีมาแล้วแจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐีบิดาของสามีกำลังบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”

พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา

เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้วก็หายโกรธขัดเครือง และกล่าวขอโทษนาง พร้อมทั้งอนุญาติให้นางนิมต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตในเรืองของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดา และภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คนไปเชิญมิคารเศรษฐีมาร่วมถวายภัตตาหารด้วย แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้วไม่กล้าที่ออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงแอบนั่นอยู่หลังม่าน

เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลังม่านก็มีโอกาศได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลในพุทธศาสนาเป็นสัมมาทิฎฐิบุคคลตั้งแต่นั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่านแล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขาให้ปากดูดถันของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอเธอจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาก็ได้นามว่า “มิคามารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกนางว่า “วิสาขามิคารมารดา”

คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา

ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่นๆ หลายประการเช่น

๑.ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง ๒๐ คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขานางมีอายุยืนได้เห็นหลานได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน หลาน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่นจะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขาคือคนไหน แต่จะสังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั้นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขาคือคนไหน

๒.นางมีกำลังมากเท่ากับช้าง ๕ เชือกรวมกัน ครั้งหนึ่งพระราชามีพระประสงค์จะทดลอกกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่มีกำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ถ้ารับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เราก็จะเป็นบาปควรจะรักษาชีวิตช้างไว้ดีกว่า” นางจึงใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยวไปปรากฎว่าช้างถึงกับล้มกลิ้งแต่ไม่เป็นอันตรายด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ชนทั้งหลายเมื่อขจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตนจึงพากันเชิญนางวิสาขาให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพิธีต่างๆ แม้แต่อาหารก็ให้นางทานก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลาดูแลปฎิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูกๆ หลานๆ ดำเนินการให้

นางวิสาขาสร้างวัด

โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก็จะมีของเคี้ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำจนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่าๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่มสามเณรีน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุกๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้าน

วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัดนางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้านนางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่า “ถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย”

เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริงๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนแล้วนำมาออกขาย ในราคา ๙ โกฎิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง

ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดาและเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดาสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการสร้าง

ภายในวัดประกอบด้วย ๒ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุอาศัย ชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาการก่อสร้างถึง ๙เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้วได้นามว่า พระวิหารบุพพาราม”

นางวิสาขา ได้ชื่อว่าเป็น มหาอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฎฐายิกา ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่างๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของส่วนบุคคลคือแก่พระภิกษุแต่ละองค์ๆ การทำบุญของนางนับว่าครบถ้วนทุกประการตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือ วัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า “ความปรารภนาใดๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้นๆ ทั้งหมดของเราได้สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้วความปรารถนาเหล่านั้นคือ”

๑.ความปราถนาที่จะ สร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นวิหารทาน

๒.ความปราถนาที่จะ ถวายเตียงตั่งฟูกหมอนและเสนาสนภัณฑ์

๓.ความปราถนาที่จะ ถวายสลากภัตเป็นโภชนาทาน

๔.ความปราถนาที่จะ ถวายผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็น จีวรทาน

๕.ความปราถนาที่จะ ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นเภสัชทาน

ความปราถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครบถ้วนทุกประการสร้างความอิ่มเอิบใจแก่นางยิ่งนักนางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว พระภิกษุทั้งหลายได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้วต่างก็รู้สึกประหลาดใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนางจึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขาก็เป็นเวลานานพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลานๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไรพระเจ้าข้า?”

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุท้้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหลอก แต่ที่ธิดาของเราเป็นอย่างนั้นก็เพราะความปิติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้นั้นสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ทุกประการนางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความอิ่มเอมใจด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก” ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางในตำแหน่ง “เอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นทายิกา”

ขออนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ

เมืองพาราณสี เมือง ๗ ม.

เมืองพาราณสี เมือง ๗ ม.

เมืองพาราณสี เมือง ๗ ม.

๑ ม.เมือง ๒ ม.แม่น้ำ ๓.ม.ไหม ๔ ม.หมาก ๕ ม.มหาลัย ๖.ม.มรณะ ๗.ม.มฤคทายวัน  มีความหมายดังนี้

๑ ม.เมือง เป็นเมืองเก่าแก่ในอดีต และไม่เคยเปลี่ยนแปลง เมืองพาราณสี เป็นศูนย์กลางของ ศาสนาฮินดู และเป็นเมืองหลวงของแค้วนกาสี คำว่า “พาราณสี มาจากคำว่า วรณา และ อสี ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำ” เพราะเมืองพาราณสีตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสายนี้ สมัยอังกฤษปกครองอินเดีย เคยเปลี่ยนเป็น เบนนารัส แต่ชาวอินเดียก็ยังคงเรียกว่า พาราณสี

๒ ม.แม่น้ำ คือ แม่น้ำคงคา เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของฮินดู คือ แม่น้ำคงคาซึ่งมีความยาวเป็นอันดับสองของแม่น้ำในประเทศอินเดียมีความยาว ๒,๕๑๐ กิโลเมตร รองจากแม่น้ำพรหมบุตร ที่มีความยาว ๕,๙๐๐ กิโลเมตร ชาวฮินดูมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า แม่น้ำคงคาสามารถชำระล้างปาบได้ ในแต่ละวันจะมีผู้คนอาบน้ำมาทำพิธีเป็นจำนวนพัน ตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำ แม่น้ำคงคานี้ มีท่าที่ใช้สำหรับเผาศพ ทั้งหมด ๘๔ ท่า แต่ท่าน้ำมีผู้คนนิยมใช้มากที่สุดมี ๕ ท่าน้ำ คือ ท่าอัสสี ท่าทสอัศวเมธ ท่าบาร์นะสังคม ท่าปัญจคงคา และท่ามณิกรรณิกา ในแต่ละวันจะมีการเผาศพ ไม่น้อยกว่า ๗๐ ศพ (ท่ามณิกรรณิกา และท่าหริจันทร์) เวลามีคนตายเขาจะเอาศพใส่แค่ทำด้วยไม้หยาบๆ ห่อด้วยผ้าสีต่างๆกัน ศพผู้ชายห่อด้วยผ้าสีขาว หญิงสาวหรือหม้ายจะห่อด้วยผ้าสีแดง ส่วนผู้ที่มีสามีห่อด้วยผ้าสีต่างๆ ผู้ชายจะเป็นผู้นำไป มีเสียงกลองและร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “รามะ นามะ สัตยะแฮ หรือ รามราม สัตยะ นามแฮ” โดยมีผู้กล่าวว่าไฟที่เผาศพบริเวณ ริมฝั่งคงคา ยังไม่เคยดับเลยเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว

๓. ม.ไหม  ผ้าไหมกาสี ชื่อว่าเป็นผ้าไหมเนื้อดีและแพงที่สุด แหล่งผลิตอยู่ที่เมืองพาราณสี สำหรับมหาราชา และมหาเศษฐีเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ใช้ผ้ากาสี

ถ้าต้องการรู้ว่าผ้านั้นของแท้หรือของปลอม ให้เอา เอาผ้านั้นสอดเข้าไปในแหวนจะผ่านได้โดยง่าย ปัจจุบันหาซื้อได้ที่เมืองพาราณสี

๔. ม. หมาก ที่เมืองพาราณสีจะผลิตหมากเป็นแพ็คเกจ ห่อละ ๑ บาท ถึง ๕ บาท ที่มีรสชาติที่ดีมาก ส่งขายทั่วประเทศ

๕. ม. มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพาราณสี (ฺBenaras Hindu University) เป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ประมาณ ๒,๐๐๐ เอเคอร์ ผู้ก่อตั้งคือ บัณทิต มะดัน โมหัน มาลทวิยะ กับ สตรีชาวไอริช โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอินเดีย เปิดการสอนในปี  ค.ศ.๑๙๐๔ มีสาขาวิชาที่เรียนมากกว่า ๔๒ วิชา ในแต่ละปีมีพระภิกษุชาวไทยและนักศึกษาจากชาติต่างๆ มาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นจำนวนมาก

๖. ม. มรณะโรงแรม มีแห่งเดียวในโลกที่มีโรงแรมรอความตาย อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ตลอดจนบ้านของพระราชามหากษัตริย์มาสร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาและสร้างท่า ๘๐ กว่าท่าสำหรับอาบน้ำเป็นจำนวนมากมาย เพราะมีความเชื่อว่า เกิดมาชาติหนึ่งขอให้มีโอกาศได้อาบน้ำในแม่น้ำคงคาสักครั้งและเมื่อตายขอให้ได้เผา ณ ริมคงคาแห่งนี้ วิญญารณก็จะได้ขึ้นสวรรค์

๗. ม. มฤคทายวัน เป็นสถานที่แสดงพระธรรมจักปัปวัตตนสูตร (ปฐมเทศนา) ของพระพุทธเจ้าเป็นสถานที่สำคัญ หนึ่งในสี่ของสังเวชนียสถานที่เราควรทัศนา

พระพุทธองค์แสดง ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร (อัญญาโกณฑัญญะ และปัญจวัคคีย์ ๕)

พระพุทธองค์แสดง ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร

ในสัปดาห์ที่ ๖ ถึงที่ ๘ เป็นช่วงที่พระพุทธเจ้าแปรสถานที่ประทับไปมาระหว่างต้นศรีมหาโพธิ์ กับ ต้นอชปาลนิโครธ หรือต้นไทร จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในสัปดาห์ที่ ๘ นับแต่ตรัสรู้มา พระพุทธเจ้าจึงเสร็จออกจากบริเวณสถานที่ตรัสรู้  เพื่อเสร็จไปยังป่าอิสิปตมนฤคทายวัน (ทุกวันนี้เรียกว่า “สารนาถ” ซื่งอยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี)

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าเสร็จไปถึงป่าอิสิปตมฤคทายวันในเย็นวันเดียวกัน ที่ว่านี้ ว่าตามวันเวลาที่ระบุบในหนังสือปฐมสมโพธิว่า…

ขณะนี้พวกปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้ากำลังสนทนากันอยู่ เรื่องที่สนธนากันก็เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยตรงว่า “นับตั้งแต่ผละหนีจากพระพุทธเจ้ามาก็นานแล้ว ป่านนี้จะประทับอยู่ที่ไหน จะทรงระลึกถึงพวกตนอยู่หรือหาไม่” ทันใดนั้น

เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกญฑัญญะ วัปปะ ภทิทิยะ อัสสซิ และมหามานะ ก็เห็นพระฉัพพรรณรังสีสว่างรุ่งเรืองมาแต่ไกล เมื่อเหลียวแลลำแสงพระรัศมี ก็เห็นพระพุทธเจ้ากำลังเสร็จดำเนินมา ทั้ง ๕ จึงนัดหมายกันว่าจะไม่รับเสร็จพระพุทธเจ้า และจะไม่ถวายความเครพ คือจะไม่ถวายบังคม แต่ต่างจะนั่งอยู่เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ ไม่สนใจ ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงจริง ปัญจวัคคีย์ทั้งหมดต่างลืมนัดหมายกันเสียสิ้น เพราะต่างก็ลุกขึ้นรับเสร็จ ถวายบังคม และรับบาตรและจีวรด้วย ความเครพอย่างแต่ก่อนเคยทำมา ผิดแต่ว่า กราบทูลพระพุทธเจ้านั้นได้ใช้ถ้อยคำที่พวกตนไม่เคยใช้มาก่อนเท่านั้น ปัญจวัคคีย์ใช้โวหารเรียกพระพุทธเจ้าว่า “อาวุโส โคดม” พระพุทธเจ้าตรัสเตือนสติเบญจวัคคีย์ว่า “พระองค์ได้ตรัสรู้อมตรธรรมจะนำมากล่าวกับเธอทั้งหลาย คำเช่นนี้เราเคยกล่าวกับท่านในกาลก่อนบ้างหรือไม”

เมื่อปัญจคัคคีย์ได้สติพระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าเรื่องให้ฟังว่า “พระองค์ได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ที่เสร็จมาที่นี่เพื่อจะแสดงธรรมโปรดนั้นเอง”

พระอรรถกถาพรรณว่า รุ่งขึ้นเป็นวันอาสาฬหปุณณมี (คือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘) เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง “ธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร” ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์พอจบลง ปรากฎว่า

ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลีและมลทินโทษว่า

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา”

พระพุทธองค์ได้ทรงทราบด้วยพุทธญาณว่า บัดนี้ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นและเป็นองค์แรกในพระพุทธสาวกของพระองค์ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ” และจำเดิมแต่นั้นมาคำว่าอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นชื่งของท่าน

ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ครั้งได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จึงทูลขออุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระพุทธองค์ได้ประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้แก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้น

ในวันต่อมา พระพุทธองค์ทรงสอนท่านทั้ง ๔ ที่เหลือนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาชื่อว่า “อนัตตลักขณสูตร”เมื่อจบปรากฎว่า ปัญจวัคคีย์ที่เหลือได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลในอันดับต่อมาและได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาตามในที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อปัญจวัคคีย์ มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นต้น ความเจริญวิปัสสนาเพื่อวิมุตติ ได้บรรลุพระอหัตผล รวมมีพระอริยบุคคลเกิดขึ้นในโลกทั้งหมด ๖ องค์

เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรงปฎิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่ ทรงปฎิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรืยกว่า “มัชณิมาปฎิปทา” คือปฎิบัติดีปฎิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวโดยย่อ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

“ขออนุโมทธนา สาธุ พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา คือ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ และปัญจวัคคีย์ ๕ คือ 

  • ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ
  • ท่านพระวัปปะ
  • ท่านพระภัททิยะ
  • ท่านพระอัสสซิ
  • ท่านพระมหามานะ

ประวัติของท่านแต่ละพระองค์ จะกล่าวภายหลัง ท่านเป็นเอกทัคคะ ด้านต่างๆ

ขออนุโมธนา สาธุ สาธุ สาธุ กับทุกท่านที่ได้อ่าน และเกิดความปิติ สาธุ สาธุ สาธุ